ถั่วพูเป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นิยมปลูกและกินกันอย่างแพร่หลายทั้งในไทยและภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ถั่วพูเป็นพืชที่ปลูกง่าย ปลูกครั้งเดียวถ้าดูแลดีหน่อยก็เก็บกินได้นานหลายปี แถมถั่วพูยังเป็นผักที่กินอร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย
อยากสุขภาพดี การเลือกปลูกเลือกกินอาหารโดยเฉพาะผักและผลไม้ตามฤดูกาล กินให้หลากหลาย กินให้พอดีย่อมดีต่อร่างกายแน่นอน (ยกเว้นไม่ขอกล่าวถึงผักตลาด รูปร่างสวยๆที่มีสารเคมีและยาฆ่าแมลงตกค้าง ผักแบบนั้นต้องใช้ความรู้ความเข้าใจขั้นสูงและวิธีการที่ซับซ้อนในการนำมาบริโภคให้ปลอดภัย)
เคล็ดลับง่ายๆ ในการปลูกถั่วพูให้ประสบความสำเร็จ ถ้าสนใจในแง่สุขภาพก็อาจต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกเมล็ดพันธุ์ เมล็ดถั่วพูตลาดที่มีจำหน่ายทั่วไป หาซื้อได้ง่ายๆ อาจมีการพัฒนาสายพันธุ์จนให้ผลผลิตดีเยี่ยมแต่ก็อาจอ่อนแอจนต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง
ดังนั้นถ้าเราจะปลูกถั่วพูเน้นทำเกษตรแบบธรรมชาติ การเลือกเมล็ดถั่วพูท้องถิ่นที่ผ่านการวิวัฒนาการให้ทนสภาวะแวดล้อมโรคทนและแมลงแบบบ้านเรา ฝักถั่วพูอาจไม่โตนักและไม่ดกมาก แต่ก็สามารถยืนหยัดสู้กับธรรมชาติแบบบ้านเราได้อย่างสบาย ใช้เพียงปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักก็เพียงพอ และที่สำคัญไม่ต้องประคบประหงมมากปล่อยให้เทวดาเลี้ยงบ้างก็ยังให้ฝักถั่วพูเก็บกินได้ไปนานๆ
เก็บเมล็ดจากฝักแก่ไว้ทำพันธุ์
เมล็ดถั่วพูเก็บใหม่ๆ อัตรางอกจะสูง
ก่อนปลูกก็นำเมล็ดถั่วพูแช่น้ำ 1 คืน
การปลูกถั่วพูให้ประสบความสำเร็จ ต้องเริ่มต้นตั้งแต่เตรียมดิน ถ้าปลูกถั่วพูไว้กินในครอบครัว ก็ไม่จำเป็นต้องปลูกเยอะ แค่ 4-5 ต้น ใช้พื้นที่แค่เข่งหรือตะกร้า 1 ใบก็เพียงพอที่จะมีฝักถั่วให้เก็บจนกินไม่ทัน ที่สำคัญคือต้นถั่วพูชอบแสงแดด ดังนั้นต้องปลูกต้นถั่วพูกลางแจ้งจึงจะได้ผลดี
หลักการง่ายๆ ของสิ่งมีชีวิตก็คือต้องการสารอาหารและพลังงาน ถ้าดินปลูกไม่ดีรดน้ำมากไปก็ไม่ได้ช่วยอะไร ดังนั้นดินปลูกถั่วพูเราควรใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักลงไปด้วย ถั่วพูเป็นไม้เลื้อย ก็หาไม้มาปักทำค้างให้ต้นถั่วเกาะหน่อย ยิ่งถั่วพูเลื้อยได้สูงมากเท่าไรเขาก็ให้ฝักถั่วพูดกมากขึ้นเท่านั้น ปลูกต้นถั่วใหม่ๆ ก็อาจต้องหมั่นรดน้ำเช้าเย็น นานไปก็สามารถเว้นระยะการรดน้ำเป็นวันเว้นวันหรือเว้นหลายๆ วันก็ได้ โดยให้สังเกตุจากความสดของต้นถั่ว และที่สำคัญหน้าดินที่ปลูกต้นถั่วไม่ควรปล่อยทิ้งโล่งๆ ให้หาหญ้าแห้งหรือเศษใบไม้คลุมหน้าดินไว้บ้าง นอกจากจะช่วยลดการสูญเสียความชื้นของดินปลูกแล้วยังช่วยปรับปรุงดินในระยะยาวด้วย
ใช้เวลาหลังปลูกต้นถั่วประมาณ 3 เดือน ถั่วพูก็เริ่มติดดอกให้ฝัก ถ้าขยันเก็บฝักถั่วพูอ่อนมากิน ถั่วพูก็จะยิ่งขยันออกดอกติดฝักใหม่เรื่อยๆ นานไปถ้าสังเกตเห็นต้นถั่วเริ่มโทรมก็เพิ่มปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักลงไปบ้าง เท่านี้เราปลูกต้นถั่วพูครั้งเดียวก็สามารถเก็บฝักถั่วได้นานร่วม 2 ปี หรือถ้าดูแลดีก็อาจจะเก็บฝักถั่วพูได้นานกว่านั้นอีกเยอะเลย
คุณค่าทางโภชนาการของถั่วพู : ในฝักถั่วพูสด 100 กรัม จะมีสารอาหารหลักๆ ได้แก่ โปรตีน 3.3 กรัม , ใยอาหาร 2.8 กรัม , วิตามินซี 18.3 มิลลิกรัม , แคลเซียม 50 มิลลิกรัม และ เหล็ก 2.8 มิลลิกรัม
การรับประทานถั่วพูเป็นประจำ จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น
ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง เนื่องจากมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง
เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยวิตามินซีที่สูง
ป้องกันโลหิตจาง ด้วยปริมาณธาตุเหล็กที่สูง
ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด และช่วยเรื่องการขับถ่ายด้วยใยอาหารที่สูง
นอกจากนี้การบริโภคถั่วพูยังช่วยชลอวัยเนื่องจากเป็นผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างสูง
ข้อควรระวังในการรับประทานถั่วพู เนื่องจากถั่วพูเป็นผักที่มีโปรตีนธรรมชาติค่อนข้างสูงแต่ก็มีสารยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทริปซิน ทำให้ไม่สามารถย่อยสลายโปรตีนหรือย่อยได้น้อยลง และคนที่ป่วยเป็นนิ่วในไต จึงไม่ควรกินถั่วพูดิบมากจนเกินไป แต่ควรนำถั่วพูไปต้มหรือปรุงให้สุกเป็นอาหารเมนูอร่อยๆ เช่นทอดมันถั่วพู ถั่วพูลวกนำไปทำยำ สลัดหรือจิ้มน้ำพริก เท่านี้ก็จะได้กินถั่วพูอร่อยๆ และรับประโยชน์จากสารอาหารในถั่วพูได้อย่างเต็มที่
ถั่วพูจัดเป็นพืชผักที่ดีและมีคุณค่าเหนือกว่าพืชตระกูลถั่วอย่างอื่น เพราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายคนอย่างแท้จริง ถือว่าถั่วพูเป็นผักดีใกล้ตัวที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน สมควรที่จะปลูกไว้เป็นพืชสามัญประจำบ้านกันเลยทีเดียว
RKA Farm วันนี้เราเป็นเพียงฟาร์มเล็กๆ ที่เน้นปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์แนวเกษตรธรรมชาติ เพื่อใช้บริโภคในครอบครัวของเราเอง ยังไม่ได้มีวัตถุประสงค์ผลิตเพื่อการค้า เราพยายามปลูกพืชพรรณให้หลากหลาย พยายามสร้างระบบนิเวศน์ที่สมดุลในพื้นที่เล็กๆ และในอนาคตเราอาจจะเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ผลิตอาหารสุขภาพตัวเล็กๆ อีก 1 รายก็ได้
สนใจแวะไปเที่ยวชมหรือขอแบ่งเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านได้ที่ จ.สุราษฎร์ธานี โทร. 084-625-9929