การปลูกข้าว: ความสามารถง่ายๆ ที่ฝังอยู่ใน DNA ของคนไทย แต่คนรุ่นใหม่กลับเชื่อว่าตัวเองทำไม่ได้ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ
ยิ่งในในยุคที่เทคโนโลยีและคำว่าเศรษฐกิจเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน หลายคนอาจลืมไปแล้วว่าบรรพบุรุษของเราคือชาวนาผู้สร้างอาณาจักรแห่งข้าวที่ยิ่งใหญ่ ทุกวันนี้มีคนเยอะแยะได้ออกมาพิสูจน์ว่า แม้จะเป็นคนเมืองมีพื้นที่จำกัดแต่ความสามารถในการปลูกข้าวก็ยังคงอยู่ในสายเลือดของคุณ
หลายคนอาจคิดว่าการปลูกข้าวต้องใช้พื้นที่กว้างๆ ต้องปลูกในนาเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว แม้แต่คอนโดหรือทาวน์เฮ้าส์ก็สามารถปลูกข้าวไว้กินเองได้ ! เพราะเราไม่ได้คิดปลูกข้าวไว้ขาย ปลูกแค่พอมีข้าวคุณภาพดีที่กินแล้วปลอดภัยไว้กินในครอบครัวก็พอ น่าที่เราจึงเหลือเพียงเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมแล้วเตรียมดินปลูกให้พอเหมาะ รดน้ำบ้างไม่รดน้ำบ้างตามวิถีสโลไลฟ์ที่เราเป็น รอไม่นานก็มีรวงข้าวสวยๆ ให้ยลโฉมแน่นอน
ถ้าเลือกจะปลูกข้าวกินเองเน้นสุขภาพโดยไม่คิดทำนาขาย ก่อนอื่นพันธุ์ข้าวเป็นอะไรที่สำคัญที่สุด ถ้าเลือกพันธุ์ข้าวไร่ซึ่งปกติปลูกบนที่ดอนก็ไม่ต้องใช้น้ำขังแบบนาในทีวี ยิ่งได้สายพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวแสงด้วยแล้วยิ่งง่ายสามารถปลูกได้ทั้งปี (ข้าวไวแสงคือข้าวที่จะออกรวงเฉพาะบางฤดูเพราะปริมาณชั่วโมงแสงแดดในแต่ละวันมีผลต่อการออกรวงของข้าว จึงเหมาะกับการทำข้าวแบบนาปี ที่เราเคยรู้มานั่นแหละ) ส่วนสายพันธุ์ข้าวไร่ในเมืองไทยมีให้เลือกหลายสายพันธุ์หาได้ไม่ยาก
สิ่งสำคัญของการปลูกข้าวในกระถางให้ได้ผลดีประการต่อมาคือดินปลูก ต้นข้าวก็ต้องการอาหารที่เพียงพอต่อการให้ผลผลิต แนะนำเลยว่าใช้ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกดีที่สุด ผมมีฟาร์มเล็กๆ ที่พยายามสร้างความสมดุลย์ระหว่างพืชกับสัตว์ ใช้เฉพาะมูลแพะหมักกับใบไม้จนผุผสมดินใส่กระถางปลูกข้าว เท่านี้ก็ได้สารอาหารเหลือเฟือในการบำรุงต้นข้าว
เมื่อเตรียมดินปลูกได้เรียบร้อย เราก็เริ่มลงมือปลูกข้าวได้เลย ง่ายๆ แค่นำเมล็ดข้าวแช่น้ำ 1 คืน รอจนเมล็ดข้าวพองเต็มที่อาจจะสังเกตุเห็นรากเล็กๆ โผล่ออกมา ก็นำไปจิ้มปลูกในกระถางปลูกได้เลย ใส่หลุมละ 2-3 เมล็ดก็พอ และในกระถางก็ไม่ต้องใส่เมล็ดข้าวลงไปเยอะนัก เพราะเมื่อต้นข้าวโตขึ้นเขาจะแตกกอเยอะ
ข้อควรระวัง เวลาหยอดเมล็ดข้าวเพื่อปลูกระวังอย่าฝังเมล็ดข้าวลึกเกินไป แค่เอาดินคลุมไว้ก็พอ แล้วเอาเศษใบไม้แห้งคลุมกระถางไว้ป้องกันนกและแมลงมาจิกกินต้นข้าว รดน้ำให้ชุ่มรอเวลาต้นข้าวงอกออกมา
รอเวลาผ่านไปอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ เราก็จะเห็นต้นข้าวโตและแข็งแรงมากพอที่จะนำไปไว้กลางแจ้ง ให้ถูกแดดเต็มวัน ต้นข้าวยิ่งถูกแดดยิ่งโตไวและแข็งแรง ถ้าเป็นพันธุ์ข้าวไร่เมื่อต้นกล้าในกระถางโตและแข็งแรงดีแล้วก็อาจจะไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน แค่สังเกตุอาการถ้าเห็นใบข้าวเริ่มสลดค่อยรดน้ำให้บ้างก็ยังได้ ใช้เวลารอ 3-5 เดือนตามแต่ละสายพันธุ์ เราก็จะได้เห็นรวงข้าวที่สุกพร้อมเก็บเกี่ยว
มีเคล็ดลับนิดหน่อยว่า ถ้าเป็นพันธุ์ข้าวหอมและต้องการให้ได้เมล็ดข้าวที่หอมเวลานำไปหุง เราต้องจำกัดการให้น้ำหรือหาดต้นข้าวขาดน้ำในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนเกี่ยวรวงข้าว
เมื่อเมล็ดข้าวสุกเต็มที่ เราก็ตัดหรือเกี่ยวเอารวงข้าวมาตีหรือฟาดในกะละมังเพื่อให้เมล็ดข้าวร่วงออกมา เอาไปตากแดดให้แห้งเพื่อลดความชื้นก็จะเก็บเมล็ดข้าวได้นานขึ้น เวลาจะนำข้าวมาหุงกิน เริ่มต้นในขั้นทดรองใหม่ๆ ก็ใช้ของในครัวเช่นครกมาตำข้าวเปลือกก็ได้ แต่ห้ามตำแรงเด็ดขาดเมล็ดข้าวจะแตกหักเสียหายหมด ให้ใช้สากหมุนบดเมล็ดข้าวเปลือกเบาๆ ก็จะได้ข้าวสารออกมา ซึ่งก็ไม่ได้ยากอะไรมากทำซักครั้งสองครั้งก็จะรู้เทคนิคที่ดีและง่ายขึ้นเองในการกระเทาะเมล็ดข้าวออกมา
มีภูมิปัญญาโบราณแนะนำให้นำข้าวเปลือกตากแดดแรงๆ ก่อนนำไปสี ก็จะทำให้เมล็ดข้าวกระเทาะออกมาง่ายขึ้นเยอะเลย
ใช้ครกสีข้าวสารเป็นข้าวเปลือกแบบง่ายๆ
เมล็ดข้าวสารที่ได้จากการกระเทาะเปลือก
ล้างทำความสะอาดเตรียมนำข้าวไปหุง
ข้าวสารใหม่ๆ ที่ขัดสีน้อยๆ เวลาหุงนอกจากกลิ่นหอมมากแล้วยังมีคุณค่าทางโภชนาการเยอะด้วย ข้าวใหม่อาจหุงยากซักหน่อยสำหรับคนไม่เคย แต่มีเคล็ดลับง่ายๆ มาบอกอีกเช่นเคยว่า การหุงข้าวให้อร่อยสุกพอประมาณกำลังดีไม่ดิบไม่แฉะ เราค่อนข้างกะน้ำยากหากหุงด้วยหม้อไฟฟ้า ดังนั้นให้ลองใส่น้ำพอประมาณแต่มากกว่าปกติเล็กน้อย แล้วเอาหม้อหุงข้าวตั้งเตาแกสเปิดไฟกลางๆ จนน้ำเดือดแล้วค่อยหรี่ไฟแกสลงเหลือไฟค่อนข้างอ่อน คอยเปิดฝาหม้อเช็คข้าวที่หุงเป็นระยะโดยไม่ต้องคนเมล็ดข้าว พอข้าวสุกดีตามขนาดที่ต้องการก็ยกลงจากเตาได้เลย เท่านี้ก็ได้ข้าวสวยร้อนๆ ข้าวใหม่หุงกำลังดี กลิ่นหอมกินอร่อย และเป็นความภูมิใจว่าเราก็สามารถปลูกข้าวและทำกินเองได้ไม่ยาก แถมไม่ต้องกังวลเรื่องสารเคมีตกค้างเหมือนข้าวตลาดด้วย
RKA Farm วันนี้เราเป็นเพียงฟาร์มเล็กๆ ที่เน้นปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์แนวเกษตรธรรมชาติ เพื่อใช้บริโภคในครอบครัวของเราเอง ยังไม่ได้มีวัตถุประสงค์ผลิตเพื่อการค้า เราพยายามปลูกพืชพรรณให้หลากหลาย พยายามสร้างระบบนิเวศน์ที่สมดุลในพื้นที่เล็กๆ และในอนาคตเราอาจจะเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ผลิตอาหารสุขภาพตัวเล็กๆ อีก 1 รายก็ได้
สนใจแวะไปเที่ยวชมหรือขอแบ่งเมล็ดและพันธุ์ผักพื้นบ้านได้ที่ จ.สุราษฎร์ธานี โทร. 084-625-9929